[go: up one dir, main page]
More Web Proxy on the site http://driver.im/ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Edward I of England)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์17 พฤศจิกายน ค.ศ. 12727 กรกฎาคม ค.ศ. 1307
ราชาภิเษก19 สิงหาคม ค.ศ. 1274
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ
รัชกาลถัดไปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระราชสมภพ17 มิถุนายน ค.ศ. 1239
พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน อังกฤษ
สวรรคต7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ~(68 ปี)
บรัฟบายแซนด์ส คัมเบอร์แลนด์ อังกฤษ
พระมเหสีเลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
มาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
พระราชบุตรพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
กับอีก 8 พระองค์
ราชวงศ์แพลนแทเจเนต
พระราชบิดาพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ
พระราชมารดาเอลินอร์แห่งพรอว็องส์ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1[1] แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Edward I of England) (17 มิถุนายน ค.ศ. 12397 กรกฎาคม ค.ศ. 1307) หรือพระนามเดิมคือ เอ็ดเวิร์ด ลองแชงก์ส (อังกฤษ: Edward Longshanks) เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในราชวงศ์แพลนแทเจเนต

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 รู้จักกันในนามว่า “Longshanks” เพราะพระวรกายที่สูงราว 6 ฟุต 2 นิ้ว[2] หรือ “ผู้พระราชทานกฎหมาย” (the Lawgiver) เพราะทรงเป็นผู้ปฏิรูปกฎหมายของอังกฤษ และ “ผู้ปราบชาวสกอต” (Hammer of the Scots) [3] เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ และพระนางเอลินอร์แห่งพรอว็องส์ ได้อภิเษกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา และต่อมากับพระนางมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1272 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ที่บรัฟบายแซนด์ส คัมเบอร์แลนด์ อังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ได้รับชัยชนะต่อเวลส์และทรงพยายามปราบปรามสกอตแลนด์แต่ไม่สำเร็จ

แม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 จะเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่ 4 ที่มีพระนามว่า “เอ็ดเวิร์ด” หลังจาก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมรณสักขี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี แต่การลำดับนามเดียวกันด้วยตัวเลขเป็นประเพณีของชาวนอร์มัน ฉะนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสามพระองค์ที่ทรงปกครองอังกฤษก่อนหน้าการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันจึงมิได้รับการเรียงลำดับแต่ทรงใช้พระสมัญญานามเพื่อบ่งความแตกต่างของแต่ละพระองค์แทน เอ็ดเวิร์ด ลองแชงค์จึงกลายเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1

ในปี ค.ศ. 2002 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงได้รับเลือกเป็นลำดับ 94 ในบรรดาชาวอังกฤษ 100 คนที่ถือกันว่าสำคัญที่สุด [ต้องการอ้างอิง]

เบื้องต้น

[แก้]

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนเมื่อค่ำวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239[4] เป็นพระเชษฐาของมาร์กาเร็ตแห่งอังกฤษ สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ เบียทริซแห่งอังกฤษ ดัชเชสแห่งบริตตานีและเบอร์กันดี และเอ็ดมันด์ ครุชแบ็ก เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ (Edmund Crouchback, 1st Earl of Lancaster) พระนามว่า “เอ็ดเวิร์ด” เป็นพระนามที่รับพระราชทานตามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมรณสักขี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี [5] เพราะพระเจ้าเฮนรีพระราชบิดาทรงเลื่อมใสลัทธิบูชานักบุญเอ็ดเวิร์ด เมื่อยังพระเยาว์พระองค์ทรงอยู่ในความดูแลของฮิวห์ กิฟฟาร์ด (บิดาของกอดฟรีย์ กิฟฟาร์ดผู้ต่อมาเป็นอัครมหาเสนาบดีและบิชอปแห่งวูสเตอร์) ระหว่างปี ค.ศ. 1239 จนกระทั่งกิฟฟาร์ดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1246[6] หลังจากนั้นบาร์โทโลมิว เพ็ค (Bartholomew Pecche) ก็รับหน้าที่แทน ในบรรดาพระสหายเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็ได้แก่เฮนรีแห่งอัลเมน (Henry of Almain) บุตรชายของริชาร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์พระอนุชาของพระเจ้าเฮนรี[7]

ดินแดนผืนแรกที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับพระราชทานคือดินแดนแกสโคนี แต่ในปี ค.ศ. 1248 ปีหนึ่งก่อนหน้าที่จะพระราชทานให้กับพระเจ้าเฮนรีพระราชโอรส ทรงแต่งตั้งให้ไซมอนแห่งมอนฟอร์ต เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ที่ 6 (Simon de Montfort, 6th Earl of Leicester) ไปเป็นข้าหลวงที่แกสโคนีเป็นเวลาเจ็ดปี ฉะนั้นแม้ว่าเอ็ดเวิร์ดจะมีฐานะเป็นเจ้าของแกสโคนีแต่พระองค์ก็ไม่ทรงมีอำนาจและรายได้จากแกสโคนีแต่อย่างใด[8]

ในปี ค.ศ. 1254 ทางอังกฤษวิตกว่าราชอาณาจักรกัสติยาจะรุกรานอาณาบริเวณแกสโคนีของอังกฤษ เพื่อเป็นการป้องกันจากการรุกรานพระเจ้าเฮนรีจึงทรงตกลงจัดให้พระราชโอรสเสกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา ผู้ทรงเป็นกึ่งพระขนิษฐา (half-sister) ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา[9]โดยมีข้อตกลงในการอภิเษกสมรสที่พระเจ้าอัลฟอนโซทรงเรียกร้องว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดต้องทรงได้รับมอบดินแดนที่มีทำรายได้ 15,000 มาร์ค (น้ำหนัก) ต่อปี เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดขณะนั้นยังมีพระชนมายุได้ไม่ถึง 15 พรรษา[10] แม้ว่าพระเจ้าเฮนรีจะพระราชทานสินสอดเป็นจำนวนพอสมควรแต่ก็มิได้พระราชทานความเป็นอิสระแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเท่าใดนัก เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับดินแดนสำหรับการเสกสมรสที่รวมทั้งดินแดนส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์และเวลส์ และดินแดนในอังกฤษเองที่รวมทั้งรัฐเอิร์ลเชสเตอร์[11] แต่พระเจ้าเฮนรีพระราชบิดาก็ยังทรงกุมอำนาจในที่ดินที่พระราชทานแก่พระราชโอรสโดยเฉพาะในไอร์แลนด์ ฉะนั้นอำนาจของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงมีเพียงจำกัด[12]

กางเขนเอลินอร์กลางเมืองวอลแธมครอสในมณฑลฮาร์ทฟอร์ดเชอร์

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา (พระชนมายุ 13 พรรษา) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1254 ที่อารามซานตามาริอาเรอัลเดอูเอลกัส (Abbey of Santa Maria la Real de Huelgas) ในกัสติยา[13] ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสธิดาด้วยกันอย่างน้อยสิบห้าหรือสิบหกพระองค์[14] การสวรรคตของพระนางเอลินอร์ในปี ค.ศ. 1290 เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงและเป็นที่โทมนัสต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นอันมาก พระองค์ถึงกับมีพระราชโองการให้สร้างกางเขนเอลินอร์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสีทั้งหมดสิบสองอันในทุกที่ที่ขบวนแห่พระศพพักกลางคืนระหว่างที่เคลื่อนพระจากลิงคอล์นไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน[15]

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสกสมรสอีกครั้งเมื่อพระชนมายุ 60 พรรษาที่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1299 กับมาเกอรีตแห่งฝรั่งเศส (พระชนมายุ 17 พรรษา) ผู้รู้จักกันในพระนาม “ไข่มุกแห่งฝรั่งเศส” โดยประชาชนอังกฤษ มาเกอรีตเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (ฟิลิปผู้กล้าหาญ) และมาเรียแห่งบราบันต์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระนางมาเกอรีตมีพระราชโอรสธิดาด้วยกันสามพระองค์

ระหว่างปี ค.ศ. 1254 ถึงปี ค.ศ. 1257 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลฝักฝ่ายในราชสำนักที่รู้จักกันว่า “ซาวอยาร์ดส์” (Savoyards) ผู้เป็นพระญาติของพระนางเอลินอร์แห่งพรอว็องส์พระราชมารดา[16] ผู้ที่เป็นผู้นำคนสำคัญของกลุ่มนี้คือปีเตอร์ที่ 2 แห่งซาวอยพระปิตุลาของพระราชินี[17] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1257 เป็นต้นไปพระองค์ก็ทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายปัวเตแวงหรือลูซิยอง– ผู้เป็นกึ่งพระอนุชาของพระองค์ – ที่นำโดยวิลเลียมแห่งวาเลนซ์ เอิร์ลแห่งเพมโบรคที่ 1 (William de Valence, 1st Earl of Pembroke)[18] ทั้งสองกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มชาวต่างประเทศที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น จึงเป็นที่เกลียดชังและต่อต้านโดยชนชั้นปกครองของอังกฤษ[19]

ความทะเยอทะยาน

[แก้]
เลโอนอร์แห่งกัสติยาพระมเหสีองค์แรก
มาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศสพระมเหสีองค์ที่สอง

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเอลินอร์เสด็จกลับอังกฤษในปี ค.ศ. 1255 และทรงเริ่มแสดงความเป็นอิสระทางด้านการเมืองจากพระราชบิดามาตั้งแต่ปีนั้น โดยการทรงเลือกข้างในกรณีความขัดแย้งในแกสโคนีซึ่งเป็นนโบายที่ตรงกันข้ามกับพระราชบิดาที่มักจะทรงใช้การไกล่เกลี่ยประนีประนอม[20] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1258 กลุ่มขุนนาง 58 คนที่ไม่มีความพอใจต่อการปกครองของรัฐบาลก็ร่างเอกสารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปต่อพระเจ้าเฮนรี–เอกสารที่รู้จักกันว่าบทบัญญัติออกซฟอร์ด (Provisions of Oxford)– ที่ส่วนใหญ่เป็นคำร้องต่อต้านกลุ่มขุนนางเชื้อสายฝรั่งเศสลูซิยอง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงเข้าข้างลูซิยองและทรงเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อบทบัญญัติ แต่ขบวนการปฏิรูปประสบความสำเร็จ ความคิดเห็นของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงและในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1259 พระองค์ก็หันไปเป็นฝ่ายเดียวกับผู้นำการปฏิรูปริชาร์ด เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 6 แห่งกลอสเตอร์ (Richard de Clare, 6th Earl of Hertford) อย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1259 พระองค์ก็ทรงประกาศว่าทรงสนับสนุนจุดประสงค์ในการปฏิรูปของกลุ่มขุนนางและผู้นำซีมงแห่งมงฟอร์[21]

เบื้องหลังของการเปลี่ยนพระทัยของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดอาจจะเป็นเพียงเพื่อหาผลประโยชน์เท่านั้น เพราะไซมอนแห่งมองฟอร์ตอยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนพระองค์ในเรื่องแกสโคนีได้[22] เมื่อพระเจ้าเฮนรีเสด็จไปฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็แข็งข้อโดยการประทานตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ให้แก่ขุนนางฝ่ายปฏิรูป พระเจ้าเฮนรีทรงเชื่อว่าพระราชโอรสมีแผนที่จะโค่นราชบัลลังก์ของพระองค์[23] หลังจากที่เสด็จกลับอังกฤษพระองค์ก็ไม่ทรงยอมให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเข้าเฝ้า แต่ในที่สุดก็ทรงยอมเมื่อได้รับการไกล่เกลี่ยโดยเอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์และบอนนิเฟสแห่งซาวอยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี[24] ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1260 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ถูกส่งตัวไปต่างประเทศ ซึ่งทำให้ทรงมีโอกาสได้ไปรวมตัวกับฝ่ายลูซิยองผู้ถูกเนรเทศกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง[25]

เมื่อเสด็จกลับอังกฤษเมื่อต้นปี ค.ศ. 1262 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงมีความขัดแย้งกับพันธมิตรของพระองค์ทางด้านการเงิน ปีต่อมาพระองค์ก็นำกองทัพไปรณรงค์ในเวลส์เพื่อกำราบลูวเวลลินกริฟฟุด (Llywelyn the Last หรือ Llywelyn ap Gruffydd) แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าใดนัก[26] ในขณะเดียวกันไซมอนแห่งมองฟอร์ตที่ออกไปจากอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1261 ก็กลับมาและมาฟื้นฟูขบวนการปฏิรูปของขุนนางขึ้นอีกครั้ง[27] พระเจ้าเฮนรีททรงยอมรับข้อเรียกร้องของขุนนางแต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด–ผู้หันมาเข้าข้างพระราชบิดา– ไม่ทรงยอมและหันกลับไปเข้ากับฝ่ายที่พระองค์เป็นปฏิปักษ์ในปีก่อนหน้านั้น–ที่ได้แก่เฮนรีแห่งอัลเมน และจอห์นแห่งวอเรน เอิร์ลแห่งเซอร์รีย์ที่ 7– และทรงเข้ายึดพระราชวังวินด์เซอร์คืนจากกลุ่มผู้ปฏิวัติ[28] ทั้งสองฝ่ายจึงอัญเชิญให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสทรงเป็นตุลาการในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่นำมาซึ่งความตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงอาเมียง” (Mise of Amiens) โดยฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายได้เปรียบอันเป็นการปูรากฐานไปสู่ความขัดแย้งครั้งต่อไป[29]

การสงคราม

[แก้]
แผนที่แสดงการต่อสู้ในยุทธการหลุยส์
เอกสารจากยุคกลางแสดงภาพร่างของซีมง เดอ มงฟอร์ที่ถูกย่ำยีในสนามรบในยุทธการอีฟแชม

ระหว่างปี ค.ศ. 1264 ถึงปี ค.ศ. 1267 เป็นช่วงระยะเวลาของสงครามขุนนาง (Barons' War) ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขุนนางที่นำโดยไซมอนแห่งมอนฟอร์ต และฝ่ายผู้สนับสนุนของพระเจ้าเฮนรี[30] ยุทธการครั้งแรกเกิดขึ้นที่กลอสเตอร์ ซึ่งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถยึดคืนได้จากฝ่ายศัตรู แต่เมื่อโรเบิร์ต เดอ เฟอร์เริร์ส เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ 6 (Robert de Ferrers, 6th Earl of Derby) ยกกำลังมาสนับสนุนผู้ก่อการ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเจรจาสงบศึกกับเอิร์ลแห่งดาร์บีซึ่งต่อมาพระองค์ก็ทรงละเมิดสัญญาสงบศึกนี้ จากนั้นเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จนำทัพไปยึดนอร์แธมป์ตันคืนจากซีมงที่ 6 เดอ มงฟอร์บุตรของซีมง เดอ มงฟอร์ ก่อนที่จะเสด็จไปตอบโต้การรณรงค์ในบริเวณดาร์บีของฝ่ายตรงข้าม[31] ในที่สุดฝ่ายขุนนางและฝ่ายกษัตริย์ก็ปะทะกันในยุทธการหลุยส์ (Battle of Lewes) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1264 แม้ว่ากองทัพของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ก็ทรงได้รับความพ่ายแพ้ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเฮนรีแห่งอัลเมนถูกจับเป็นเชลยโดยไซมอนแห่งมอนฟอร์ต[32]

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงถูกนำตัวไปจำขังอยู่จนเดือนมีนาคมและแม้หลังจากการทรงถูกปลดปล่อยแล้วก็ยังคงถูกควบคุมทุกฝีก้าว[33] เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พระองค์ก็ทรงหลบหนีไปกับผู้คุมและไปสมทบกับกิลเบิร์ต เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 7 แห่งฮาร์ตเฟิร์ด (Gilbert de Clare, 7th Earl of Hertford) ผู้ที่เพิ่งหันมาสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์เพียงไม่นานก่อนหน้านั้น[34] ในขณะเดียวกันฝ่ายมงฟอร์ก็มีผู้สนับสนุนน้อยลงจนทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถยึดวูสเตอร์และกลอสเตอร์คืนได้อย่างง่ายดาย[35] มงฟอร์จึงหันไปเป็นพันธมิตรกับเลเวลินคนสุดท้ายและเริ่มนำทัพไปทางตะวันออกไปสมทบกับซีมงที่ 4] บุตรชาย เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสามารถจู่โจมฝ่ายมอนฟอร์ตโดยไม่รู้ตัวที่ปราสาทเค็นนิลเวิร์ธ (Kenilworth Castle) เมื่อไซมอนที่ 4 จนมุมก่อนที่จะถูกตัดออกจากกำลังของไซมอนแห่งมอนฟอร์ต[36] กองกำลังทั้งสองจึงประจันหน้ากันเป็นครั้งที่สองซึ่งเป็นยุทธการใหญ่ของสงครามขุนนางในยุทธการอีฟแชม (Battle of Evesham) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1265 ซีมง เดอ มงฟอร์ไม่มีหนทางที่จะต่อสู้กับกองทัพที่มีกำลังเหนือกว่าได้และในที่สุดก็พ่ายแพ้ ถูกสังหารและย่ำยีกลางสนามรบ[37]

หลังจากการเสียชีวิตของซีมงสงครามก็ยังไม่ยุติลง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยังทรงดำเนินการรณรงค์ต่อไป เมื่อมาถึงคริสต์มัสพระองค์ก็ทรงทำความตกลงกับซีมงที่ 4 และผู้สนับสนุนที่ไอล์ออฟแอ็กซ์โฮล์ม (Isle of Axholme) ในลิงคอล์นเชอร์ และในเดือนมีนาคมพระองค์ก็สามารถโจมตีบริเวณบริเวณห้าเมืองท่า (Cinque Ports) ในบริเวณเค้นท์และซัสเซ็กส์ได้สำเร็จ[38] ฝ่ายข้าศึกถอยเข้าไปยึดที่มั่นไว้ในปราสาทเค็นนิลเวิร์ธซึ่งเป็นปราสาทที่ยากต่อการโจมตี ฝ่ายก่อการที่ยึดปราสาทไว้ไม่ยอมแพ้จนกระทั่งมีการร่างสัญญาประนีประนอมที่เรียกว่าข้อตกลงเค็นนิลเวิร์ธ (Dictum of Kenilworth)[39] ในเดือนเมษายน ส่วนบรรยากาศทั่วไปทางด้านอื่นก็ดูเหมือนว่ากลอสเตอร์จะร่วมก่อการปฏิรูปขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจจะทำให้เกิดสงครามขึ้นอีก แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันในข้อตกลงเค็นนิลเวิร์ธได้ สถานการณ์ที่คุกรุ่นก็ราลง[40] แต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมิได้ทรงมีส่วนในการเจรจาตกลงครั้งนี้เท่าใดนักเพราะมัวแต่ทรงหันไปหมกมุ่นกับการวางแผนการเดินทางไปเข้าร่วมการทำสงครามครูเสดที่จะมาถึง[41]

สงครามครูเสดและการขึ้นครองราชย์

[แก้]
แผนที่สงครามครูเสดครั้งที่ 9
ปราสาทที่เมืองเอเคอร์

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1268 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพร้อมกับเอ็ดมันด์ ครุชแบ็ก เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระอนุชาและเฮนรีแห่งอัลเมนพระญาติทรงรับกางเขนในพิธีการออกสงครามที่ใหญ่โตหรูหรา ในบรรดาผู้ร่วมพิธีก็มีผู้เป็นศัตรูเก่าเช่นเอิร์ลแห่งกลอสเตอร์ แต่ที่ในที่สุดกลอสเตอร์ก็ไม่ได้ไปสงคราม[42] เมื่อบ้านเมืองราบคาบลงปัญหาเดียวในการเข้าร่วมสงครามคือการขาดทุนทรัพย์[43] พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสผู้ทรงเป็นผู้นำในการสงครามครั้งนี้ทรงให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยืมทุนทรัพย์สำหรับการทำสงครามเป็นจำนวนประมาณ 17,500 ปอนด์[44] ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอ ก้อนที่เหลือได้มาจากการเก็บภาษีฆราวาส (Laity) ซึ่งไม่ได้บังคับใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1237[44] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1270 รัฐสภาก็อนุมัติการเก็บ “ภาษีหนึ่งในยี่สิบ” ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่เคลื่อนไหวได้เช่นสัตว์เลี้ยงเป็นอัตราร้อยละห้า[45] เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการทรงยอมรับ “มหากฎบัตร” โดยพระเจ้าเฮนรีอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังอนุมัติกฎจำกัดสิทธิของธุรกิจการยืมเงินของชาวยิวด้วย[46] เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จลงเรือจากโดเวอร์เพื่อเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส[47] ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่ากองกำลังที่ทรงนำไปด้วยมีจำนวนเท่าใด แต่ประมาณกันว่าคงทรงนำอัศวินราว 225 คนพร้อมทั้งทหารที่รวมด้วยกันทั้งหมดแล้วก็คงไม่เกินกว่า 1,000 คน[43]

จุดประสงค์แรกของการเดินทางไปสงครามก็เพื่อไปช่วยกองทัพคริสเตียนที่ถูกล้อมอยู่ในที่มั่นที่เอเคอร์ในราชอาณาจักรเยรูซาเลม แต่พระเจ้าหลุยส์ทรงหันทัพไปทางทูนิสทางแอฟริกาตอนเหนือก่อน พระเจ้าหลุยส์และพระอนุชาชาร์ลแห่งอ็องฌูผู้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี ตกลงกันโจมตีอีเมียร์ (emir) ทางเหนือของแอฟริกาเพื่อยึดเป็นที่ตั้งมั่นในบริเวณตอนเหนือของแอฟริกา[48] แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จและต้องเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมากด้วยโรคระบาดรวมทั้งพระเจ้าหลุยส์เองก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม[49] เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปถึงทูนิส พระเจ้าชาร์ลส์ (ชาร์ลส์แห่งอองชู) ก็ได้ไปทรงลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับอีเมียร์เรียบร้อยไปแล้ว การเดินทางไปสงครามครูเสดของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงถูกเลื่อนไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา แต่พายุร้ายนอกฝั่งซิซิลีทำให้พระเจ้าชาร์ลส์และพระเจ้าฟิลลิปที่ 3 (ผู้ครองฝรั่งเศสต่อจากพระเจ้าชาร์ลส์) ทรงเปลี่ยนพระทัยในการเดินหน้าต่อไปในการทำสงคราม[50] เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงทรงตัดสินพระทัยเดินทัพต่อไปเพียงพระองค์เดียวและเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1271 พระองค์ก็ขึ้นฝั่งที่เอเคอร์[51]

สถานการณ์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปถึงเป็นสถานการณ์ที่ออกจะเปราะบาง เยรูซาเลมเสียเมืองไปแล้วในปี ค.ศ. 1187 เอเคอร์กลายเป็นศูนย์กลางสุดท้ายที่เหลือของราชอาณาจักรเยรูซาเลมที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของคริสเตียน[52] ประเทศกลุ่มอิสลามโดยการนำของ ไบบาร์ส (Baibars) แห่งราชวงศ์บาหรี (Bahri dynasty) อยู่ในฐานะได้เปรียบ และดูจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเอเคอร์ แม้ว่ากองทัพของพระองค์จะเป็นส่วนสำคัญในการเป็นกองหนุนให้เอเคอร์แต่ก็เป็นกองกำลังที่เสียเปรียบต่อกองทัพที่มีพลานุภาพมากกว่าของไบบาร์ส ความพยายามที่จะจู่โจมเซนต์จอร์จเดอเลอเบนย์ (St Georges-de-Lebeyne) ที่ไม่ไกลจากเอเคอร์ในเดือนมิถุนายนก็ประสบความล้มเหลว[53] การโจมตีของมองโกลที่อเล็พโพ (Aleppo) ในซีเรียทางตอนเหนือทำให้เสความสนใจจากเอเคอร์ของกองทัพฝ่ายอิสลามอยู่ระยะหนึ่ง[54] ในเดือนพฤศจิกายนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงบุกเข้าปล้นสะดมคาคุน (Qaqun) ของฝ่ายมุสลิม ซึ่งถ้ายึดได้ก็อาจจะใช้เป็นที่มั่นสำหรับการยึดกรุงเยรูซาเลมคืนได้ แต่ทั้งการรุกรานของฝ่ายมองโกลและการรุกรานคาคุนของพระองค์ต่างก็ล้มเหลว สถานการณ์จึงเลวร้ายลงตามลำดับ ฉะนั้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1272 ฮิวจ์ที่ 3 แห่งไซปรัส (Hugh III of Cyprus) ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรเยรูซาเลมเพียงในนามก็ทรงยอมลงพระนามในสัญญาสงบศึกสิบปีกับไบบาร์ส[55] เมื่อเริ่มแรกเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ทรงยอมรับสัญญานี้ แต่หลังจากที่ทรงถูกลอบทำร้ายโดยนักลอบสังหาร (assassin) ชาวมุสลิมในเดือนมิถุนายนแล้ว พระองค์ก็ทรงจำต้องยอมหยุดยั้งการรณรงค์ต่อไปแม้ว่าจะทรงสังหารนักลอบสังหารได้ก็ตาม จากการลอบทำร้ายครั้งนี้ทำให้ทรงได้รับบาดเจ็บที่พระกรโดยกริชอาบยาและทรงได้รับบาดเจ็บต่อมาอีกหลายเดือนหลังจากนั้น[56]

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมิได้เสด็จออกจากเอเคอร์จนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน และไม่ได้ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนปีก่อนหน้านั้นจนกระทั่งเมื่อเสด็จไปถึงซิซิลี[57] แม้ว่าจะทรงมีความโทมนัสต่อการสูญเสียแต่มิได้ทำให้ทรงรีบเสด็จกลับอังกฤษในทันที แต่กลับทรงค่อยๆ เสด็จเดินทางขึ้นไปทางเหนือของยุโรปอย่างสบายๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพลานามัยยังอ่อนแออยู่ หรืออาจจะทรงมีความคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนก็ได้[58] เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษขณะนั้นอยู่ในสภาพที่มั่นคงหลังการความไม่สงบต่างๆ ในกลางคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการประกาศให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทันทีหลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแทนที่จะรอประกาศจนเมื่อได้ทำการสวมมงกุฎพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเช่นในอดีต การประกาศทันทีจึงกลายมาเป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่บัดนั้น[59] พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับอังกฤษทางแผ่นดินโดยเสด็จผ่านอิตาลีและฝรั่งเศส ขณะที่เสด็จผ่านกรุงโรมพระองค์ก็เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา และเมื่อผ่านฝรั่งเศสก็ทรงถือโอกาสปราบปรามการก่อความไม่สงบในแกสโคนีไปด้วย[60] พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับถึงอังกฤษเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1274 และทรงเข้าทำพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม[61]

เสวยราชสมบัติ

[แก้]

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 3เสด็จสวรรคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกำลังทำสงครามครูเสดอยู่ทางตะวันออก แต่ทรงมาได้ข่าวการสวรรคตที่ซิซิลีเมื่อพระองค์เสด็จกลับจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว

ในระยะแรกเอ็ดเวิร์ดมีพระประสงค์ที่จะใช้นาม “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4” ตามพระนามกษัตริย์แซ็กซอนสามพระองค์ที่ปกครองอังกฤษก่อนหน้านั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม พระองค์มารู้จักกันในพระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” โดยไม่มีลำดับตัวเลข เมื่อพระราชโอรสที่มีพระนามเดียวกันขึ้นเสวยราชย์ก็ทรงใช้พระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2” และ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” จึงกลายเป็น “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” ซึ่งเป็นการริเริ่มการลำดับหมายเลขหลังพระนามพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นอร์มันได้รับชัยชนะต่ออังกฤษในปี ค.ศ. 1066 เป็นต้นมา แม้ว่าพระนาม “เอ็ดเวิร์ด” จะเป็นพระนามที่ใช้ทั้งก่อนและหลังจากนอร์มันได้รับชัยชนะก็ตาม

สงครามกับเวลส์

[แก้]
ปราสาทคายร์นาร์วอนเป็นหนึ่งในปราสาทหลายปราสาทที่มีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการควบคุมและปราบปรามการก่อความไม่สงบในเวลส์

พระราชกรณีกิจชิ้นแรกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดคือการทำสงครามเพื่อยึดครองเวลส์ หลังจากสงครามขุนนางแล้วลูวเวลลินกริฟฟุด (Llywelyn the Last หรือ Llywelyn ap Gruffydd) ก็ฉวยโอกาสภายใต้สนธิสัญญามอนต์กอมรีในปึ ค.ศ. 1267 ในการขยายดินแดนไปทางใต้จนไปถึงดินแดนดินแดนมาร์ชเวลส์ (Welsh Marches) ที่เป็นของอังกฤษและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าลูวเวลลินคือเจ้าชายแห่งเวลส์[62] แม้ว่าจะยังสวามิภักดิ์ต่ออังกฤษ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวที่พระราชบิดาได้ทรงลงนามไว้ และในปี ค.ศ. 1275 โจรสลัดของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยับยั้งเรือที่นำเอเลเนอร์แห่งมอนฟอร์ตธิดาของไซมอนแห่งมอนฟอร์ตจากประเทศฝรั่งเศสไปยังเวลส์เพื่อจะไปแต่งงานกับลูวเวลลินกริฟฟุด และทรงจำขังเอเลเนอร์ไว้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ หลังจากที่ลูวเวลลินกริฟฟุดไม่ยอมเข้ามาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ในฐานะเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1274 และปี ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงรวบรวมกองทัพเพื่อยกไปปราบปรามลูวเวลลินกริฟฟุดในเวลส์เป็นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1276 จนถึงปี ค.ศ. 1277 หลังจากที่พ่ายแพ้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแล้วลูวเวลลินกริฟฟุดก็ถูกบังคับให้แสดงความสวามิภักดิ์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยึดดินแดนต่างๆ ที่กริฟฟุดยึดไปคืน นอกจากดินแดนเพียงเล็กน้อยที่กุนนาร์ด แต่ทรงยอมให้รักษาตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ไว้และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้แต่งงานกับเอเลเนอร์แห่งมอนฟอร์ต

ในปี ค.ศ. 1282 ดาฟุดกริฟฟุดน้องชายของลูวเวลลินกริฟฟุดที่เคยเป็นพันธมิตรกับอังกฤษอยู่ระยะหนึ่งเริ่มแข็งข้ออีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงปราบปรามได้สำเร็จ และทรงจับดาฟุดกริฟฟุดมาทรมานและประหารชีวิตในปีต่อมา หลังจากนั้นก็ทรงก่อสร้างปราสาทหินใหญ่โตหลายแห่งตามชายแดนรอบอังกฤษและในเวลส์เองเพื่อป้องการการแข็งข้อของเวลส์

ราชรัฐเวลส์จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษภายใต้พระราชบัญญัติรัดด์แลนในปี ค.ศ. 1284 และในปี ค.ศ. 1301 นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยังทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์โตขึ้นเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ซึ่งกลายมาเป็นประเพณีที่เป็นตำแหน่งสำหรับพระราชโอรสองค์โตของพระมหากษัตริย์อังกฤษเกือบทุกพระองค์ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ยกเว้นแต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

สงครามกับสกอตแลนด์

[แก้]
วิลเลียม วอลเลซผู้ต่อต้านชาวสกอต

หลังจากที่ทรงกำราบเวลส์ได้สำเร็จ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงหันมาทางสกอตแลนด์ ทรงตั้งพระทัยจะจัดการเสกสมรสพระราชโอรสองค์โตกับมาร์กาเร็ตแห่งสกอตแลนด์ แต่มาร์กาเร็ตมาเสียชีวิตเสียก่อนโดยไม่มีผู้สืบเชื้อสายที่เห็นได้ชัด คณะผู้พิทักษ์สกอตแลนด์ (Scottish Guardians) จึงอัญเชิญให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาเป็นผู้ตัดสินว่าใครควรจะเป็นผู้สืบราชสมบัติสกอตแลนด์ต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามแย่งราชสมบัติกันในสกอตแลนด์ แต่ก่อนที่จะมีความคืบหน้าแต่อย่างใด พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเรียกร้องให้สกอตแลนด์แต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” (Lord Paramount of Scotland) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชอาณาจักร หลังจากการต่อต้านในระยะแรกสกอตแลนด์ก็ยอมรับข้อเรียกร้องของพระองค์

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นประธานในศาลขุนนางที่ประชุมกันที่ปราสาทเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1292 ที่ตัดสินสนับสนุนจอห์นแห่งสกอตแลนด์ (จอห์น บาลลิโอล) ผู้ที่มีสิทธิในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าผู้อื่น หลังจากที่จอห์นแห่งสกอตแลนด์ขึ้นครองราชย์แล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงใช้ตำแหน่ง “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” ในการลดอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่โดยการทรงเรียกตัวบาลลิโอลมาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1293 นอกจากนั้นก็ยังทรงแสดงพระประสงค์ให้จอห์นสนับสนุนพระองค์ทั้งทางการเงินและทางการทหารในการต่อสู้กับฝรั่งเศส บาลลิโอลไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องข้อหลังนี้ได้และหันไปทำสัญญากับฝรั่งเศสและเตรียมตัวรุกรานอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงตอบโต้โดยการนำกองทัพที่ประกอบด้วยทหาร 25,000 คนเข้าทำลายเมืองเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีด และสังหารประชาชนไปราว 11,000 คนซึ่งเป็นประชาชนเกือบทั้งเมือง ระหว่างการรณรงค์ในสกอตแลนด์พระองค์ก็ทรงใช้เครื่องมือยิงหินที่เรียกว่า “วอร์วูลฟ” (Warwolf) อย่างแพร่หลาย

หลังจากที่ทรงยึดเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีดได้แล้ว พระองค์ก็ทรงเดินทัพต่อไปยังดันบาร์และเอดินบะระห์และทรงนำหินแห่งสโคน (Stone of Scone) จากเพิร์ธลงมายังแอบบีเวสต์มินสเตอร์ จอห์นแห่งสกอตแลนด์สละราชสมบัติและถูกจำขังในหอคอยแห่งลอนดอนอยู่สามปีก่อนที่จะเดินทางไปลี้ภัยพำนักอยู่ในฝรั่งเศส เจ้าของที่ดินอิสระทั้งหมดในสกอตแลนด์ถูกบังคับให้สาบานความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงปกครองสกอตแลนด์เช่นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษที่นำโดยอุปราชอังกฤษ

กลุ่มการต่อต้านในสกอตแลนด์ก็เริ่มก่อตัวขึ้น (ดูสงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์) ในบรรดาการต่อต้านพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงประหารชีวิต วิลเลียม วอลเลซ เมื่อวันที่ 23 สืงหาคม ค.ศ. 1305 หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อวอลเลซที่ศึกฟอลเคิร์ค ในปี ค.ศ. 1298

บั้นปลาย

[แก้]

ในบั้นปลายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสูญเสียพระราชินีเลโอนอร์แห่งกัสติยาพระชายา และรัชทายาทก็ไม่ทรงมีบุคลิกของผู้นำที่เห็นได้ชัดตามพระราชประสงค์ พระประสงค์ที่จะปราบสกอตแลนด์ให้ราบคาบในขณะที่ยังทรงมีชีวิตอยู่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ที่เบอร์หบายแซนด์สในคัมเบอร์แลนด์ไม่ไกลจากเขตแดนสกอตแลนด์ขณะที่ทรงเดินทัพไปรณรงค์กลุ่มผู้ต่อต้านอีกกลุ่มหนึ่งในสกอตแลนด์ภายใต้การนำของโรเบิร์ต บรูซ ตามจดหมายเหตุกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระราชประสงค์ที่จะให้กองทัพคงดำเนินการต่อไปหลังจากการเสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยการนำพระอัฐิของพระองค์ไปด้วยและให้นำพระหทัยของพระองค์ไปฝังไว้ที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ และทรงบรรจุพระบรมศพของพระราชบิดาไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ภายในโลงตะกั่วเรียบๆ ที่ต่อมาจารึกด้วยคำว่า “Scottorum malleus” หรือ “ผู้ปราบชนสกอต”[63] รอเวลาที่จะเปลี่ยนเป็นโลงทองเมื่อสกอตแลนด์ถูกปราบปรามสำเร็จและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1774 เมื่อสมาคมโบราณคดีแห่งลอนดอนเปิดโลงพระศพก็พบว่าพระวรกายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังอยู่ในสภาพดีไม่เน่าเปื่อยมาเป็นเวลา 467 ปี ร่างของพระองค์ยังนอนอยู่ในโลงตะกั่วเดิมแม้ว่าราชบัลลังก์สกอตแลนด์จะรวมตัวกับราชบัลลังก์อังกฤษในปี ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษหลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต การรวมตัวเป็นสหภาพระหว่างสองอาณาจักรมาสำเร็จตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ในชื่อว่าราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์

พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ในพระนามว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ

การปกครองและกฎหมาย

[แก้]
พระสาทิสลักษณ์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่แขวนอยู่ที่สภาผู้แทนราษฏรสหรัฐอเมริกา เพราะทรงเป็นผู้ก่อตั้งระบบรัฐสภาในอังกฤษแทนระบบการปกครองแบบขุนนาง

ไม่เช่นพระเจ้าเฮนรีที่ 3พระราชบิดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงมีความสนพระทัยในระบบการปกครองของรัฐบาลและทรงริเริ่มการปฏิรูปหลายด้านเพื่อให้อำนาจในการปกครองของรัฐบาลและการบริหารมาตกอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์มากขึ้น รัฐสภาเริ่มมีการประชุมอย่างเป็นปกติมากขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แม้จะยังมีอำนาจในการเก็บภาษีอย่างจำกัดแต่ก็ยังทรงได้รับการขยายอำนาจในการเก็บภาษีของพระองค์ได้กว้างขึ้นกว่าในรัชสมัยของพระราชบิดา

หลังจากที่เสด็จกลับจากสงครามครูเสดครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 1274 แล้วก็มีการสืบสวนเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิดในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิดการบันทึกการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน (Hundred Rolls) ในปี ค.ศ. 1275 รายละเอียดของพระราชบัญญัติเป็นการเริ่มลดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบระหว่างการสืบสวนทำให้เกิดพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับตลอดรัชสมัยของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1275 พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ฉบับแรกก็ได้รับการอนุมัติเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในบันทึกการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน พระราชบัญญัติที่คล้ายคลึงกันก็ได้รับอนุมัติต่อมาเรื่อยจนโรเบิร์ต เบอร์เนลล์ที่ปรึกษาคนสนิทของพระองค์เสียชีวิต ในปี ค.ศ. 1292

การประหัตประหารชนยิว

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกบทกฎหมายจำกัดสิทธิชาวยิว (Statute of the Jewry) ซึ่งบ่งกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ที่มีผลต่อชนยิวในอังกฤษ ข้อที่เด่นก็ได้แก่การระบุว่าธุรกิจการกู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยสูงเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หรือชนยิวต้องติดเครื่องหมายเหลืองบนเสื้อนอก

พระราชกฤษฎีกาขับไล่

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1290 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกพระราชกฤษฎีกาขับไล่ชาวยิว (Edict of Expulsion) ซึ่งระบุไล่ชาวยิวทั้งหมดออกจากอังกฤษ ระหว่างการประหัตประหารชนยิว พระองค์ก็มีพระราชโองการจับหัวหน้าชนยิวกว่า 300 คนไปจำขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนก่อนที่มีพระราชโองการให้ประหารชีวิต นอกจากนั้นก็ยังมีไล่เข่นฆ่าชาวยิวที่พบตามบ้านเรือนและยังทรงยึดทรัพย์สินของชนยิวด้วย

สาเหตที่ทรงออกพระราชกฤษฎีกายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าเป็นเพราะข่าวลือที่เริ่มจะหนาหูที่กล่าวหาว่าชนยิวเที่ยวไล่จับเด็กคริสเตียนฆ่าเพื่อนำไปทำพิธีทางศาสนา และเฉพาะในกรณีของไอแซ็คแห่งพูเลท์ผู้ถูกจับในข้อหาว่าฆ่าเด็กคริสเตียนที่ออกซฟอร์ด อีกเหตุผลหนึ่งกล่าวว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเงิน แม้ว่าการให้กู้เงินจะเป็นอาชีพที่แพร่หลายในหมู่ชนยิวและบางครั้งก็มีการกล่าวหาว่าเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าเหตุ แต่อาชีพนี้ก็มิได้เป็นอาชีพที่ทำเงินได้มากเท่าใดนักเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระองค์ (ชาวยิวถูกเก็บภาษีอย่างสูงในสมัย พระเจ้าจอห์น และในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 พระราชบิดา) นอกจากนั้นก่อนปี ค.ศ. 1292 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการหนุนหลังทางการเงินอย่างพอเพียงจากเฟรสโกบาลดี (Frescobaldi) ซึ่งเป็นบริษัทการเงินของอิตาลี ซึ่งทำให้เหตุผลหลังนี้เป็นไปได้ยาก แต่สาเหตุที่มีเหตุผลที่สุดก็น่าจะเป็นการที่ทรงได้รับเงินหนุนหลังจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากชนยิวขณะเดียวกับที่บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างผ่อนปรนระหว่างผู้ต่างศาสนาก็เริ่มลดลงหลังจากการประชุมสภาบาทหลวงแห่งแลตเตอรันครั้งที่ 4 (Fourth Lateran Council) ในปี ค.ศ. 1215 [64] นอกจากนั้นเราก็ยังควรเข้าใจว่าการขับไล่ชนยิวมิได้เกิดเฉพาะแต่ในอังกฤษแต่เป็นบรรยากาศของการต่อต้านชนยิวที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในยุโรปในคริสต์ศตวรรที่ 13 เช่นในกรณีที่ฝรั่งเศสขับไล่ชาวยิวจากเมืองทุกเมือง และพระราชมารดาของพระองค์เองพระราชินีเอเลเนอร์ก็มีคำสั่งไล่ชนยิวออกจากพรอวองซ์ในปี ค.ศ. 1275

พระบรรพบุรุษ

[แก้]
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
16. เจฟฟรีย์ที่ 5 เคานต์แห่งอ็องฌู
 
 
 
 
 
 
 
8. พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
17. จักรพรรดินีมาทิลดา
 
 
 
 
 
 
 
4. พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
18. วิลเลียมที่ 10 แห่งอากีแตน
 
 
 
 
 
 
 
9. อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
19. เอนอร์แห่งชาเทลเลอร์โรท์
 
 
 
 
 
 
 
2. พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
20. วิลเลียมที่ 6 เคานต์แห่งแห่งอ็องกูเลม
 
 
 
 
 
 
 
10. แอมเยอร์ เคานต์แห่งแห่งอ็องกูเลม
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
21. มาร์เกอรีตแห่งตูรีน
 
 
 
 
 
 
 
5. พระนางอิซาเบลลาแห่งอองกูแลม
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
22. ปีเตอร์ เดอ คอร์เทเนย์
 
 
 
 
 
 
 
11. อลิซ เดอ คอร์เทเนย์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
23. เอลิซาเบธ เดอ คอร์เทเนย์
 
 
 
 
 
 
 
1. พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
24. พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน
 
 
 
 
 
 
 
12. อัลฟอนโซที่ 2 เคานต์แห่งพรอวองส์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
25. ซานชาแห่งกัสติยา
 
 
 
 
 
 
 
6. ราโมน เบอรองแกร์ที่ 4 เคานต์แห่งพรอวองส์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
26. เรนูเคานท์แห่งฟอร์คาลเคียร์
 
 
 
 
 
 
 
13. เจอร์เซ็นดาที่ 2 แห่งซาบรัน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
27. แกร์ซองด์แห่งฟอร์คาลเคียร์
 
 
 
 
 
 
 
3. พระนางเอลินอร์แห่งพรอวองส์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
28. ฮัมเบิร์ตที่ 3 แห่งซาวอย
 
 
 
 
 
 
 
14. ทอมัสที่ 1 แห่งซาวอย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
29. เบียทริซแห่งเวนัวส์
 
 
 
 
 
 
 
7. เบียทริซแห่งซาวอย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
30. วิลเลียมที่ 1 แห่งเจนีวา
 
 
 
 
 
 
 
15. มาร์เกอรีตแห่งเจนีวา
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
31. เบียทริซแห่งฟอซินยี
 
 
 
 
 
 

พระราชโอรสธิดา

[แก้]

พระราชโอรสธิดากับพระนางเอลินอร์

[แก้]
  1. เอเลเนอร์ (ราว 17 มิถุนายน ค.ศ. 1264 หรืออาจจะเป็นค.ศ. 1269 - 12 ตุลาคม ค.ศ. 1298) เดิมทรงเป็นคู่หมั้นของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอนผู้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะได้เสกสมรส ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1293 เสกสมรสกับเฮนรีที่ 3 เคานต์แห่งบาร์
  2. โจน (ค.ศ. 1265 - ก่อนวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1265) ประสูติที่ปารีสหรืออาจจะที่แอบเบวิลล์ Ponthieu และสิ้นพระชนม์ที่ฝรั่งเศส พระศพฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
  3. จอห์น (ราววันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1266 - 1 สิงหาคม หรือ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1271) อาจจะประสูติที่พระราชวังวินด์เซอร์หรือที่ปราสาทเค็นนิลเวิร์ธ และสิ้นพระชนม์ที่ปราสาทวอลลิงฟอร์ด ขณะที่อยู่ในความดูแลของพระอัยการิชาร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์ พระศพฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
  4. เฮนรี (13กรกฎาคม ค.ศ. 1267/ค.ศ. 1268 - 14 ตุลาคม, ค.ศ. 1274) ประสูติที่พระราชวังวินด์เซอร์ และอาจจะสิ้นพระชนม์ที่เมอร์ตันในเซอร์รีหรือที่ปราสาทกิลด์ฟอร์ด
  5. แอลิส สมภพที่วังวูดสต็อค และอาจจะสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา บางครั้งเชื่อว่าเป็นคนคนเดียวกับอิสซาเบลลาผู้เกิดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1279 แต่ไม่น่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกต้องเพราะอิสซาเบลลาสิ้นชีวิตในปีเดียวกับปีที่เกิด
  6. จูเลียนา (ค.ศ. 1271 - 28 พฤษภาคม หรือ 5 กันยายน ค.ศ. 1271) ประสูติที่เอเคอร์ในปาเลสไตน์
  7. โจนแห่งเอเคอร์ (ค.ศ. 1272 - 23 เมษายน ค.ศ. 1307) สมภพที่เอเคอร์ในปาเลสไตน์ เสกสมรสกับกิลเบิร์ต เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 7 แห่งฮาร์ตเฟิร์ด และต่อมากับราล์ฟ เดอ มอนเธอร์เมอร์ บารอนแห่งมอนเธอร์เมอร์ที่ 1 และสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักส่วนพระองค์ในซัฟโฟล์ค
  8. อัลฟอนโซ เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ (24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1273 - 19 สิงหาคม หรือ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1284) อาจจะประสูติที่เบยอนน์ หรือที่บอร์โดซ์ หรือที่แกสโคนี หรือที่เมน และสิ้นพระชนม์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ พระศพฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
  9. มาร์กาเร็ต (11 กันยายน ค.ศ. 1275 - ค.ศ. 1318) สมภพที่พระราชวังวินด์เซอร์ เสกสมรสกับจอห์นที่ 2 แห่งบราบังท์ พระศพฝังที่บรัสเซลส์
  10. เบเร็นเจเรีย (1 พฤษภาคม ค.ศ. 1276 - 27 มิถุนายน ค.ศ. 1278) สมภพที่วังเค็มพ์เต็นในเซอร์รี เสกสมรสกับx พระศพฝังที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์
  11. แมรี (11 มีนาคม หรือ 22 Lเมษายนl ค.ศ. 1278 - 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1332) สมภพที่พระราชวังวินด์เซอร์ ทรงบวชเป็นชีและประทับที่เอมส์บรีในแคว้นวิลท์เชอร์
  12. อิสซาเบลลา (12 มีนาคม ค.ศ. 1279 - ค.ศ. 1279) อาจจะสมภพที่วังวูดสต็อค หรือที่ปราสาทมาร์ลเบรอในแคว้นวิลท์เชอร์ พระศพฝังที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์
  13. เอลิซาเบธแห่งรัดด์แลน (ค.ศ. 1282 - ราว 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1316) สมภพที่ปราสาทรัดด์แลนในเวลส์ เสกสมรสครั้งแรกกับจอห์นที่ 1 เคานต์แห่งฮอลแลนด์ ครั้งที่สองกับฮัมฟรีย์เดอโบฮุน เอิร์ลแห่งแฮรฟอร์ดที่ 4 ครั้งที่สามกับเอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ และสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดพระบุตรที่เคว็นเด็นในเอสเซ็กส์ พระศพฝังที่แอบบีวอลเด็นในเอสเซ็กส์
  14. พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (25 เมษายน ค.ศ. 1284 - 21 กันยายน ค.ศ. 1327) เสด็จพระราชสมภพที่ปราสาทคายร์นาร์วอนในเวลส์ เสกสมรสกับอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส และสิ้นพระชนม์โดยถูกปลงพระชนม์ที่ปราสาทบาร์คลีย์ในแคว้นกลอสเตอร์เชอร์ พระบรมศพฝังที่มหาวิหารกลอสเตอร์
  15. เบียทริซ (หลังวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1286 - ค.ศ. x) อาจจะสมภพที่แกสโคนีหรืออากีแตน
  16. บลานช์ (ค.ศ. 1289/ค.ศ. 1290- ?)

พระราชโอรสธิดากับพระนางมาเกอรีต

[แก้]
  1. ทอมัสแห่งบราเธอตัน เอิร์ลแห่งนอร์โฟล์คที่ 1 (1 มิถุนายน ค.ศ. 1300 - 4 สิงหาคม หรือ 20 กันยายน ค.ศ. 1338) ประสูติที่บราเธอตันในแคว้นยอร์คเชอร์ เสกสมรสกับแอลิซ เฮลส์ และต่อมากับแมรี บรูส์ พระศพฝังที่เบอรีเซนต์เอ็ดมันด์
  2. เอ็ดมันด์แห่งวูดสตอค เอิร์ลที่ 1 แห่งเคนต์ (5 สิงหาคม ค.ศ. 1301 - 19 มีนาคม ค.ศ. 1330) ประสูติที่วังวูดสตอค เสกสมรสกับมาร์กาเรต เวค บารอนเนสเวกที่ 3 แห่งลิดเดลล์ และสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกสังหารโดยอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศสและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 1 หลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ถูกโค่นราชบัลลังก์
  3. เอลินอร์ (4 พฤษภาคม ค.ศ. 1306 - ค.ศ. 1311) สมภพที่วินเชสเตอร์และสิ้นพระชนม์ที่เอมส์บรีในแคว้นวิลท์เชอร์ พระศพฝังที่อารามบิวลีในแคว้นแฮมพ์เชอร์

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 246
  2. Because of his 6 foot 2 inch (188 cm) frame as compared with an average male height of 5 foot 7 inch (170 cm) at the time.
  3. His tombstone, reads Edwardus Primus Scotorum Malleus hic est, 1308. Pactum Serva Latin for "Here is Edward I, Hammer of the Scots"; though this inscription was probably added in the 16th century.
  4. เพรสต์วิค, “เอ็ดเวิร์ดที่ 1”, 4
  5. “พจนานุกรมชีวประวัติแห่งชาติออกซฟอร์ด” “เอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ”
  6. Prestwich 1997, pp. 5–6
  7. Prestwich (2004).
  8. Prestwich 1997, pp. 7–8
  9. Morris 2008, pp. 14–8
  10. Prestwich 1997, p. 10
  11. Prestwich 1997, p. 11
  12. Prestwich 1997, pp. 11–4
  13. Morris 2008, p. 20
  14. Morris 2008, p. 231
  15. Morris 2008, pp. 230–1
  16. Prestwich 2007, p. 96
  17. Morris 2008, p. 7
  18. Henry III's mother Isabella of Angoulême married Hugh X of Lusignan after the death of King John of England; Prestwich 2005, p. 94.
  19. Prestwich 2007, p. 95
  20. Prestwich 1997, pp. 15–6
  21. Carpenter, David (1985). "The Lord Edward's oath to aid and counsel Simon de Montfort, 15 October 1259". Bulletin of the Institute of Historical Research. 58: 226–37.
  22. Prestwich 1997, pp. 31–2
  23. Prestwich 1997, pp. 32–3
  24. Morris 2008, pp. 44–5
  25. Prestwich 1997, p. 34
  26. Powicke 1962, pp. 171–2
  27. Maddicott 1994, p. 225
  28. Prestwich 1997, p. 41
  29. Prestwich 2007, p. 113
  30. This conflict is often referred to as the Second Barons' War, to distinguish it from the civil war– or the First Barons' War– of 1215-1217.
  31. Prestwich 1997, pp. 42–3
  32. Sadler 2008, pp. 55–69
  33. Prestwich 1997, pp. 47–8
  34. This was Gilbert de Clare, 7th Earl of Hertford, son of the aforementioned Richard de Clare, 6th Earl of Hertford; Prestwich 1997, pp. 48–9.
  35. Prestwich 1997, pp. 49–50
  36. Powicke 1962, pp. 201–2
  37. Sadler 2008, pp. 105–9
  38. Prestwich 1997, p. 55
  39. The Dictum restored land to the disinherited rebels, in exchange for a fine decided by their level of involvement in the wars; Prestwich 2007, p. 117
  40. ข้อสำคัญในข้อตกลงคือผู้ที่ถูกยึดทรัพย์สินไปก่อนหน้านั้นสามารถเรียกที่ดินคืน “ก่อน” ที่จะจ่ายค่าปรับPrestwich 2007, p. 121
  41. Prestwich 1997, p. 63
  42. Morris 2008, pp. 83, 90–2
  43. 43.0 43.1 Prestwich 1997, p. 71
  44. 44.0 44.1 Prestwich 1997, p. 72
  45. This meant a grant of 1/20 of all movable property.
  46. Maddicott, John (1989). "The Crusade Taxation of 1268-70 and the Development of Parliament". ใน P. R. Coss; S. D. Lloyd (บ.ก.). Thirteenth Century England II. Woodbridge: Boydell Press. pp. 93–117. ISBN 0851155138.
  47. Morris 2008, p. 92
  48. Riley-Smith 2005, p. 210
  49. The disease in question was either dysentery or typhus; Riley-Smith 2005, pp. 210–1
  50. Riley-Smith 2005, p. 211
  51. Prestwich 1997, p. 75
  52. Morris 2008, p. 95
  53. Prestwich 1997, p. 76
  54. Morris 2008, pp. 97–8
  55. Prestwich 1997, p. 77
  56. The anecdote of Queen Eleanor saving Edward's life by sucking the poison out of his wound is almost certainly a later fabrication; Prestwich 1997, p. 78
  57. Prestwich 1997, pp. 78, 82
  58. Prestwich 1997, p. 82
  59. Though no written proof exists, it is assumed that this arrangement was agreed on before King Edward's departure; Morris 2008, p. 104
  60. Prestwich 1997, pp. 82–5
  61. Powicke 1962, p. 226
  62. Carpenter 2003, p. 386
  63. "EDWARD I (r. 1272-1307)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-07. สืบค้นเมื่อ 2007-07-08.
  64. “สารานุกรมแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เคมบริดจ์” หน้า 126. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ค.ศ. 1985

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ถัดไป
พระเจ้าเฮนรีที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
(ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท)

(ค.ศ. 1272ค.ศ. 1307)
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2